หนึ่งในหน้าที่ของผู้มีที่ดิน ก็คือการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั่นเอง โดย จะมีเจ้าหน้าที่กรมที่ดินส่งใบประเมินภาษีมาให้เราที่บ้าน แบบที่เราไม่ได้ร้องขอ (ซึ้งใจสุดๆไปเลย) 😂 😂 😂 และเมื่อเราได้รับใบประเมินภาษีดังกล่าวมาแล้วเราก็นำไปชำระภาษี พอเราชำระภาษีเรียบร้อยแล้วเพียงเท่านี้ก็หมดหน้าที่ของเราแล้ว ง่ายใช่ไหมล่ะ สุดยอดไปเลย
แต่บางครั้งเราก็อาจจะมีข้อสงสัยได้ว่า ทำไมที่ดินเราเล็กกว่าบ้านข้างๆ แต่ทำไมถึงเสียภาษีเยอะกว่าเขาอีกละ ซึ่งการคำนวณหาอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของเราได้เองนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย โดยก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าที่ดินที่เรามีชื่ออยู่นั้นเป็นที่ดินประเภทใด ซึ่งตามกฎหมายแบ่งที่ดินออกเป็น 4 ประเภท
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เก็บภาษีไม่เกินร้อยละ 0.15 ของราคาประเมินจากกรมที่ดิน
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย เก็บภาษีไม่เกินร้อยละ 0.3 ของราคาประเมินจากกรมที่ดิน
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจาก (1) และ (2) เก็บภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2 ของราคาประเมินจากกรมที่ดิน
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ เก็บภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2 ของราคาประเมินจากกรมที่ดิน
ถ้าหากเราคำนวณเองแล้วไม่ตรงกับ ยอดที่ได้รับแจ้งเราสามารถทักท้วงราคาประเมินได้ แต่ !!! ถึงแม้ยอดภาษีอาจจะถูกคำนวณผิด เราก็ต้องนำเงินไปชำระภายในกำหนดก่อนนะ แล้วค่อยไปทักท้วงเพื่อขอเงินคืนกัน
โดยการทักท้วงภาษี ให้เราไปยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นตามแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีหรือเรียกเก็บภาษี เมื่อคำร้องถูกพิจารณาเสร็จแล้วจะมีการแจ้งคำสั่งพร้อมเหตุผลเป็นหนังสือมายังบ้านของเรา
หากการคำนวณของเราถูกต้อง และได้รับแจ้งรับคืนส่วนที่ชำระเกิน เราสามารถไปรับภาษีส่วนที่ชำระเกินภายใน 15 วัน หลังจากที่ได้รับแจ้ง แต่หากการชี้แจ้งคำสั่งการเรียกเก็บภาษีนั้น ยังไม่เป็นที่พอใจ เราสามารถยื่น “อุทธรณ์” ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีได้อีกนะ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อผู้บริหารท้องถิ่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง หากผลของการอุทธรณ์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เราก็สามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลได้ ภายใน 30 วัน หลังจากผลอุทธรณ์
สรุป
เราสามารถทักท้วงผลการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ทั้งหมด 3 ครั้ง
- ยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่น ภายใน 30 วัน หลังจากการได้รับแจ้งชำระภาษี
- ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้บริหารท้องถิ่น ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง
- ยื่นฟ้องต่อศาลได้ ภายใน 30 วัน หลังจากผลอุทธรณ์
การตรวจสอบคำสั่งในการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น เป็นการดูแลและปกป้องสิทธิพื้นฐานของเจ้าของทรัพย์สิน อย่าลืมทักท้วงเพื่อรักษาสิทธิของตัวเองกันด้วยนะ และพบกันใหม่อีกครั้งกับบทความเกี่ยวกับภาษีที่ดิน ทางทีมทนายหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆ ไม่มากก็น้อย
💖💖💖 ทนายบ้านและคอนโด 💖💖💖
ตัวจริง…รู้จริง เรื่องกฎหมายอสังหาริมทรัพย์
ดูแลคุณด้วยใจ ปกป้องสิทธิให้คุณด้วยกฎหมาย
ปรึกษาเบื้องต้น ฟรี!!