บริการงานกฎหมายจัดการมรดก แต่งตั้งผู้จัดการมรดก จัดทำพินัยกรรม ให้ลูก ให้หลาน โดยทนายความมืออาชีพ ปรึกษาฟรี!!
คนส่วนใหญ่สร้างสินทรัพย์ความมั่งคั่งและมั่นคง ไม่ได้เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ก็เพื่อคนข้างหลังอีกด้วย บางคนสร้างเนื้อสร้างตัวจากเสื่อผืนหมอนใบ ด้วยความยากลำบาก อุตสาหะ ทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งชีวิต ชีวิตนี้ของเราไม่ได้สุขสบาย หวังว่าจะทำให้คนที่เรารัก ผู้อยู่ข้างหลัง ลูกหลาน ญาติพี่น้อง อยู่สุขสบาย มั่นคง
แต่หลายครั้ง และหลายครอบครัว ที่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างที่ เจ้ามรดก คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ คาดหวังตามเจตนารมณ์!! หลากหลายปัญหาที่เกิดจาก “ทรัพย์” หลังจากที่เจ้ามรดกได้จากโลกนี้ไป ทายาทไม่ทราบว่า จะดำเนินการอย่างไร? การจัดการทรัพย์มีความยืดเยื้อหลายปี มีกระทั้งถูกเบียดบัง ฉ้อโกงด้วยความไม่รู้ พี่น้องทะเลาะกัน จนถึงขั้นฆ่ากันตายก็มี
คนตาย ตายตาไม่หลับ!! คนที่อยู่ “ตกนรก” ทั้งเป็น!!
พ่อแม่ไม่ได้แบ่งมรดกให้ลูก ให้หลาน ไม่ได้ทำพินัยกรรม ตายไป ลูกหลานทะเลาะแบ่งมรดก แย่งสมบัติกัน กว่าจะหาทายาท หรือตกลงคนที่จะมาเป็น “ผู้จัดการมรดก” ได้ หลายครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย พี่อยากเป็น น้องอยากได้ ลุงป้าน้าอาขอมีเอี่ยว นึกว่าเป็น “ผู้จัดการมรดก” กันแล้ว จะจัดการกับทรัพย์สินหรือกองมรดกยังไงก็ได้ เหมือนเป็นทรัพย์ของตนเอง แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ เรื่องมันไม่จบแค่นั้น พอได้เป็นแล้ว หลายท่านจะรู้สึกได้เลย ว่า “หน้าที่” ที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อม “ความรับผิดชอบ” อันใหญ่ยิ่ง ++
เพราะมันไม่ได้จบ แค่ “ความตาย” หรือขอศาลแต่งตั้ง “ผู้จัดการมรดก” !?
ภาระหน้าที่ประดังประเด ต้องทำบัญชีรายงานการจัดการทรัพย์ ประเมินมูลค่า แบ่งทรัพย์สินมรดกให้ตรงตามเจตนารมณ์เจ้ามรดก เสียภาษี จัดทำบัญชีการเงิน จดทะเบียน ทำนิติกรรมแบ่งแยกโอนทรัพย์สินที่ดิน บางคนเป็น “ผู้จัดการมรดก” จนแก่ จนเสียชีวิตไปแล้ว ยังทำหน้าที่ไม่เรียบร้อย ถูกญาติพี่น้อง ครหา รุมด่า รุมประฌาม สาบแช่ง ตราหน้าเป็น “ลูกหลานเนรคุณ อกตัญญู” , “ฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบพี่น้อง”, “ฉ้อโกงกองมรดก โกงพี่ โกงน้อง” หรือ “ผิดต่อครอบครัว ทำครอบครัวตกต่ำ” ทำลูกหลานไร้อาชีพ ไร้ทางทำมาหากิน กิจการไร้หัวไร้หาง ธุรกิจตกต่ำ เพราะ ทรัพย์สิน กิจการถูกเอาไปแช่ไว้ เอาไปต่อยอดไม่ได้
หนักเข้า++ เป็นคดีความกันในครอบครัว ตกเป็นขี้ปากของสังคม ผู้จัดการมรดกถูกถอดถอน ถูกกำจัด ตัดออกจากกองมรดก ติดคุก ติดตาราง!!
เริ่มต้นให้ถูก!! ให้ทีมทนายบ้านและคอนโด ดำเนินการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก และเป็นที่ปรึกษาคุณสิครับ มองจบครบทุกกระบวนการ ให้คุณทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ครบถ้วน เราอยู่กับคุณจนถึงที่สุด
พร้อม ทีมที่ปรึกษา นักอสังหาฯ นักบัญชี และประเมินมูลค่าทรัพย์ เพื่อช่วยให้ท่านทำหน้าที่ ส่งผ่านเจตนารมณ์ของเจ้ามรดกให้กับทายาทได้อย่างราบรื่น และ ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นธรรม++
อัตราค่าบริการงานกฎหมาย จัดการมรดก
- บริการงานกฎหมายจัดการมรดก แต่งตั้งผู้จัดการมรดก จัดทำพินัยกรรม ให้ลูก ให้หลาน โดยทนายความมืออาชีพ ปรึกษาฟรี!!
- อัตราค่าบริการงานกฎหมาย จัดการมรดก
- ถ้าไม่มีพินัยกรรม ทรัพย์มรดก และเงินของคุณ ตกที่ใคร
- พินัยกรรม คือ อะไร? ทำไม เราควรต้องทำพินัยกรรม?
- หลักเกณฑ์ และข้อกำหนดตามกฎหมาย ในการทำพินัยกรรม
- ผู้จัดการมรดก คือ ใคร? บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ
- การแต่งตั้งผู้จัดการมรดก
- ความสิ้นสุดของการเป็นผู้จัดการมรดก
- การติดตามหนี้จากกองมรดก – ทวงหนี้ได้ ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดก อายุความ 1 ปี
- อายุความ – คดีมรดก 1 ปี จัดการมรดก 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี
- บทความอื่นๆ ด้านการจัดการมรดกที่น่าสนใจ
ถ้าไม่มีพินัยกรรม ทรัพย์มรดก และเงินของคุณ ตกที่ใคร
ลำดับขั้นตามกฎหมาย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แบ่งลำดับขั้นของทายาทโดยธรรม ที่สามารถรับมรดกออกเป็น 6 ลำดับ ตามมาตรา 1629 แต่มรดกทั้งหมดนั้น ก็ไม่ได้จะตกไปอยู่ทั้ง 6 อันดับ เท่าๆ หรือทั่วถึงกัน
ในมาตรา 1630 ได้ระบุไว้ว่า ตราบใดที่ทายาทชั้นใกล้ชิดที่สุดยังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ขาดผู้รับมรดกแทนตามลำดับขั้น ทายาทที่อยู่ในอันดับต่อไปไม่มีสิทธิในมรดก
ซึ่งลำดับขั้นได้แบ่งออกตามนี้
- ผู้สืบสันดาน (บุตรทางสายเลือดหรือบุตรบุญธรรม)
- บิดามารดา
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
- ปู่ ย่า ตา ยาย
- ลุง ป้า น้า อา
หลักการแบ่งมรดก
- หากเป็นสินสมรสต้องแบ่งให้คู่สมรสครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นทรัพย์มรดกที่จะนำมาแบ่งให้แก่ทายาท
- ทายาทลำดับชั้นก่อน ตัดทายาทลำดับชั้นหลัง โดย ลำดับชั้นที่ 1 และ 2 ไม่ตัดกัน
- หากไม่มีทายาทชั้นที่ 6 ทรัพย์นั้นให้ตกเป็นของแผ่นดิน
- ทายาทที่มีลำดับชั้นเดียวกันมีสิทธิรับมรดกคนละเท่าๆ กัน
- ถ้าทายาทลำดับชั้นที่ 1 3 4 หรือ 6 ตายก่อนเจ้ามรดก ทายาทผู้ที่ตายมีสิทธิรับมรดกแทนที่
สำหรับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็นับเป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635 คู่สมรสตามกฎหมายสามารถรับมรดกได้ แต่สัดส่วนมรดกที่จะได้รับนั้นต้องพิจารณาว่าผู้รับมรดกมีลำดับขั้นไหนบ้าง
หากผู้วายชมน์นั้นมีผู้สืบสันดาน คู่สมรสก็จะได้มรดกเทียบเท่าชั้นบุตร และหากบิดามารดาของผู้ตายนั้น ยังมีชีวิตอยู่ด้วย บิดามารดาก็มีสิทธิในมรดกเทียบเท่าชั้นบุตรอีกด้วย
พินัยกรรม คือ อะไร? ทำไม เราควรต้องทำพินัยกรรม?
พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน หรือในการต่างๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อเราตายแล้ว การทำพินัยกรรมเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ใครก็ได้
หลายคนได้ยินเรื่องพินัยกรรมแต่ไม่แน่ใจว่าควรทำไหม บางคนคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับเราเพราะสมาชิกครอบครัวเรารักกันดี มีจำนวนคนน้อย หรือว่าไม่น่าจะต้องยุ่งยากไปทำพินัยกรรม บางคนก็คิดว่ามันมีแต่อยู่ในละคร ในรั้วในวัง เลยเถิดไปถึงขนาด ผู้หลักผู้ใหญ่บางคน คิดว่าเป็นการ “แช่ง” ให้อายุสั้น
เชื่อไหมครับ? คนที่คิดแบบนี้ ไม่น่าจะนอนตายตาหลับ โลงสะดุ้ง ครอบครัวตกนรกทั้งเป็นมาหลายรายแล้ว
การคิดถึงเรื่องการ “ยก” หรือ “ส่งมอบ” ทรัพย์สิน โดยการทำพินัยกรรม ไม่ใช่การ “แช่ง” หรือ “ลางไม่ดี” หรือ “ยังไม่ถึงเวลาที่ควรทำ” เพราะ “ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน” ความตายเข้าใกล้เราเข้ามาทุกวัน ความตายอาจมาแบบปัจจุบันทันด่วนไม่มีเวลาสั่งเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโรคระบาดโควิด เห็นกันอยู่ไม่ถึงอาทิตย์ กลับขึ้นเมรุเผาในวันเดียว ไร้พิธี ไร้ญาติพี่น้อง ไร้คนส่ง ในบางกรณี ที่ทรมานไปกว่านั้น ต้องนอนติดเตียง ต่อท่อช่วยหายใจ มีสติแต่ไร้ความสามารถ พูดไม่ได้ สั่งเสียอะไรไม่ได้ ได้แต่มองตาปริบๆ มรณานุสติควรต้องมี ดังนั้น การวางแผนมรดก ทำพินัยกรรม จึงไม่มีคำว่า “เร็วเกินไป”
หลายครอบครัว พี่น้องทะเลาะกัน บางทีเลยเถิด ถึงขั้นฆ่ากันตาย หรือหลายกรณี ทำให้ทรัพย์ของคุณตกไปอยู่กับคนที่ไม่เหมาะสม เจ้ามรดกไม่อยากให้ ถูกโกงหน้าด้านๆ พระเครื่องของสะสมทั้งชีวิตถูกเลหลังขายแบบไม่รู้คุณค่า ลูกรัก หลานรัก ไม่ได้รับมรดก อยู่อย่างลำบากข้นแค้น น้องหมา น้องแมวลูกรัก ถูกตัดหางปล่อยวัด ลูกที่ไม่ได้ความเอาสมบัติไปผลาญกับการพนัน ยาเสพติด ทำให้ครอบครัว ตระกูลตกต่ำ รักใคร ชอบใคร ทำพินัยกรรมดีกว่านะครับ เกิดเหตุไม่คาดฝัน จะได้จากไปอย่างสงบ
หลักเกณฑ์ และข้อกำหนดตามกฎหมาย ในการทำพินัยกรรม
- ทำด้วยตนเอง และต้องมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะอายุ 15 ปี ก็ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังอาจเป็นเด็กอยู่ในมุมมองผู้ใหญ่ แต่กฎหมายกลับให้ทำพินัยกรรมได้
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือบุคคลวิกลจริต โดยคำสั่งศาลแล้ว แต่กรณีเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ทำพินัยกรรมได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์
- ผู้ทำพินัยกรรม ไม่ได้ถูกข่มขู่ สำคัญผิด หรือถูกหลอกโดกลฉ้อฉล
- ผู้เขียน ผู้พิมพ์ พยานในพินัยกรรม จะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้ (รวมทั้งคู่สมรสตามกฎหมายของทั้งคนเขียน คนพิมพ์ และพยาน)
- พินัยกรรมแบบพิมพ์ จะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้ แต่จะใช้ตราประทับหรือลงแกงไดไม่ได้
- ต้องเป็นทำหนังสือ ลงวัน / เดือน / ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม หากไม่ลงเป็นโมฆะ
- ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน “พร้อมกัน” และพยาน 2 คนต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ขณะนั้น
- การขูด ลบ ตก เติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรม นั้นย่อมไม่สมบูรณ์
- ผู้ทำพินัยกรรมสามารถ ระบุทรัพย์สินที่ต้องการส่งต่อให้ทายาทได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน, คอนโดมิเนียม, ที่ดิน หรือสังหาริมทรัพย์ เช่น เงินฝากในธนาคาร, ทองคำ, กองทุนประเภทต่างๆ, เครื่องประดับ เพชรพลอย รวมถึงหุ้นในและนอกตลาดหลักทรัพย์
- พินัยกรรมควรจะตั้งผู้จัดการมรดกโดยสามารถระบุผู้ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกที่เจ้ามรดกไว้ใจลงในพินัยกรรมไปได้เลย
- ทายาทตามพินัยกรรมอาจเป็นบุคคล หรือไม่ ก็ได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกในครอบครัว เช่น ถ้าจะยกทรัพย์สินให้กับวัดหรือมูลนิธิ ก็สามารถทำได้
- ผู้ทำพินัยกรรมจะยกทรัพย์สินให้ได้เฉพาะทรัพย์สินของตนเองแท้ๆ เท่านั้น เช่น เรื่องของทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาที่เป็นสินสมรส ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของสามีและภรรยาในสัดส่วนเท่าๆ กัน ทำให้สามีหรือภรรยาจะยกทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสในส่วนที่ไม่ใช่ของตนแท้ๆ ให้บุคคลอื่นไม่ได้ ดังนั้น ก่อนสามีหรือภรรยาจะยกทรัพย์สินให้บุคคลใด ต้องทราบด้วยว่าทรัพย์สินที่จะยกให้นั้นเป็นทรัพย์สินในส่วนของใคร
- เงินประกันชีวิต เงินบำเหน็จตกทอด เงินมีบำนาญตกทอด เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ตกทอด ไม่อาจเป็นมรดกที่ระบุลงในพินัยกรรมได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนตาย
คนรับมรดก ที่เป็น บุพการีและผู้สืบสันดาน จะต้องเสียภาษีอัตรา 5% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท นอกนั้นจะเสียในอัตรา 10% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท (พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558)
ผู้จัดการมรดก คือ ใคร? บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ
ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้ง ตามคำร้องขอของทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดก หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือตามพินัยกรรม โดยผู้จัดการมรดกไม่จำเป็นต้องเป็นทายาท หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกองมรดก ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป และมีหน้าที่รวบรวมมรดก เพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ติดตามหนี้สินที่เจ้ามรดกเป้นเจ้าหนี้ ทำบัญชีมรดกและรายการแสดงบัญชีการจัดการ โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้
หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดก ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกก็ได้
หน้าที่ผู้จัดการมรดก ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว (ป.พ.พ. มาตรา 1716) ดังนี้
- จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดก (วันฟังคำสั่งศาลหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว) และต้องจัดทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน หากไม่เสร็จก็สามารถขออนุญาตต่อศาลขยายระยะเวลาอีกได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1728 และมาตรา 1729)
- ถ้ามิได้จัดทำให้เสร็จภายในกำหนดเวลา และตามแบบที่กำหนดหรือบัญชีไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1731)
- บัญชีทรัพย์มรดกต้องมีพยาน ๒ คน และต้องเป็นทายาทที่มีส่วนได้เสียในกองมรดก (ป.พ.พ. มาตรา 1729 วรรค 2) บัญชีทรัพย์มรดกต้องมีรายการแสดงว่าเป็นทรัพย์สิน, สิทธิเรียกร้องอะไรบ้างเงินมูลค่าเท่าใดและแจ้งจำนวนเจ้าหนี้ว่ามีใครบ้าง เป็นเงินรวมเท่าใด
- ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่ และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายใน ๑ ปี นับแต่วันฟังคำสั่งศาล หรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้วเว้นแต่ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (ป.พ.พ. มาตรา 1732)
- ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดกเว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทจำนวนข้างมากจะได้กำหนดไว้ (ป.พ.พ. มาตรา 1721)
- ผู้จัดการมรดกจะทำพินัยกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้หรือได้รับอนุญาตจากศาล (ป.พ.พ. มาตรา 1722)
- ผู้จัดการมรดกต้องจัดการมรดกด้วยตนเอง (ป.พ.พ. มาตรา 1723)
- ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อื่นใด อันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าให้เป็นลาภส่วนตัวย่อมไม่ผูกพันทายาท เว้นแต่ทายาท เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 1724 วรรค 2)
- ผู้จัดการ มรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนด พินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นภายในเวลาอันสมควร (ป.พ.พ. มาตรา 1725)
- ทายาทจะต้องบอกทรัพย์สินมรดกและหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ผู้จัดการมรดก (ป.พ.พ. มาตรา 1735)
- ผู้จัดการมรดกต้องจัดแบ่งสินมรดกและมอบโดยเร็วโดยชำระหนี้กองมรดก (ถ้ามี) เสียก่อน (ป.พ.พ. มาตรา 1744)
- ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่ และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายใน ๑ ปี นับแต่วันฟังคำสั่งศาล หรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้วเว้นแต่ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (ป.พ.พ. มาตรา 1732)
- ถ้าผู้จัดการมรดกมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายในกำหนดเวลาและตามแบบที่กำหนดหรือบัญชีไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1731)
การแต่งตั้งผู้จัดการมรดก
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง ต้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลในขณะถึงแก่ความตาย แต่หากเจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตอำนาจศาล ซึ่งศาลที่มีอำนาจในการออกคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ต้องเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและต้องเป็นศาลจังหวัดเท่านั้น กรณีที่ภูมิลำเนาของเจ้ามรดกอยู่ในกรุงเทพมหานคร ผู้ที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งตลิ่งชัน แล้วแต่ว่าเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ของศาลใด หากเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต้องกระทำต่อศาลจังหวัดในท้องที่ที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาก่อนถึงแก่ความตาย เมื่อยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ศาลจะนัดไต่สวนคำร้องประมาณ 2 เดือน หลังจากไต่สวนคำร้องเสร็จ 1 เดือน ผู้ร้องสามารถขอคัดสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก พร้อมหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เพื่อใช้ดำเนินการต่อไป
ปัจจุบัน เนื่องจาก สถานการณ์โควิด ทางศาลได้อนุญาตให้ไต่สวนคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยศาลจะนัดไต่สวนผ่านวิดีโอคอล ท่านสามารถแจ้งความประสงค์ให้ทนายผู้รับผิดชอบ ยื่นคำร้อง ดำเนินการได้
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
- ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดกจริงๆ หรือผู้รับพินัยกรรม
- ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เจ้าของร่วมในทรัพย์สินของเจ้ามรดก หรือสามีภริยาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีทรัพย์สินร่วมกัน เป็นต้น
- พนักงานอัยการ
คุณสมบัติผู้จัดการมรดก
- บรรลุนิติภาวะ อายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์
- ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง
- เอกสารแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับเจ้ามรดก เช่น สูติบัตร ทะเบียนสมรส ทะเบียนบ้าน
- ใบมรณบัตรของเจ้ามรดก
- เอกสาร หรือทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์มรดก เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อช.2) บัญชีธนาคาร ทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น
- บัญชีเครือญาติของเจ้ามรดก
- หนังสือยินยอมให้เป็นผู้จัดการมรดกจากทายาท
- พินัยกรรม (หากมี)
- หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (หากมี)
ความสิ้นสุดของการเป็นผู้จัดการมรดก
- ตาย หรือเสียชีวิต
- ตกเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น บุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต หรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ลาออก ซึ่งต้องยื่นคำร้อง และได้รับอนุญาตจากศาล แต่หากในระหว่างทำหน้าที่ แล้วมีความเสียหายในการจัดการเกิดขึ้น ก็ยังต้องรับผิดชอบ
- ศาลมีคำสั่งถอน “ผู้จัดการมรดก” อาจโดยคำร้องของทายาทคนอื่น
- การจัดการมรดกสิ้นสุดลง นับตั้งแต่ ผู้จัดการมรดก ได้โอนมรดก “ทั้งหมด” ให้กับทายาทไป โดยเป็นการเริ่มนับอายุความจัดการมรดก 5 ปี
การติดตามหนี้จากกองมรดก – ทวงหนี้ได้ ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดก อายุความ 1 ปี
หนี้สิน ถือเป็นมรดก หรือไม่?
มรดกจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลถึงแก่กรรม และมรดกของบุคคลนั้นจะตกทอดถึงทายาททันที ทั้งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิด โดยทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดที่เกิดขึ้นพร้อมกับหรือเนื่องจากความตายของเจ้ามรดก เช่น เงินที่ผู้รับผลประโยชน์ได้รับจากสัญญาประกันชีวิตของผู้ตาย ไม่ถือว่าเป็นกองมรดก หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นภายหลังที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ก็ไม่ถือว่าเป็นกองมรดกของผู้ตาย (ถือว่าเป็นผลประโยชน์ของทายาท)
ดังนั้น หนี้จึงเป็นมรดก เพราะเป็นหน้าที่ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แม้ว่าเจ้ามรดกจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่หน้าที่ในการชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้จะยังคงอยู่
กรณีที่ เจ้ามรดกมีหนี้สินในจำนวนที่มากกว่าทรัพย์มรดก ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับ เช่น ทรัพย์มรดกมีมูลค่า 5 ล้านบาท แต่มีหนี้สินอยู่ 8 ล้านบาท ดังนั้นทายาทจะต้องรับชดใช้หนี้สินในจำนวนเงินที่ไม่เกิน 5 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 3 ล้านบาทที่เหลือ ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดเฉพาะบุคคลนั้น แต่หากมีทรัพย์มรดกเกินกว่าหนี้สิน ทายาทต้องชดใช้หนี้สินที่มีทั้งหมดก่อน จากนั้นจึงค่อยนำมรดกมาแบ่งกัน
ไม่ให้ฟ้องเกิน 1 ปี นับจากลูกหนี้ตาย หรือได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 คดีมรดก เจ้าหนี้ต้องฟ้องติดตามหนี้จากกองมรดกภายใน 1 ปีตั้งแต่เจ้ามรดกตาย หรือรู้ว่าเจ้ามรดกตาย ซึ่งโดยปกติเมื่อลูกหนี้เสียชีวิต เจ้าหนี้ก็น่าจะทราบได้ เพราะลูกหนี้จะขาดส่งดอกเบี้ย เมื่อขาดส่งดอกเบี้ย ก็ต้องมีการติดตามทวงถาม แต่ถ้าไม่รู้ และมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าตนเองไม่รู้ ก็สามารถฟ้องติดตามได้ ภายใน 10 ปี
หากทายาทได้แบ่งมรดกไปแล้ว เจ้าหนี้ต้องฟ้องเอากับทายาททุกคนที่ได้รับการแบ่งมรดก จะฟ้องเฉพาะทายาทคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เพราะทายาทแต่ละคนจะรับผิดชอบหนี้เท่ากับหรือไม่เกินมรดกที่ได้รับจากเจ้ามรดก
หากเจ้ามรดกมีคู่สมรส และมีหนี้สินร่วมกันซึ่งสร้างภาระไว้ก่อนเสียชีวิต หนี้สินร่วมนั้นจะถูกแบ่งครึ่งระหว่างเจ้ามรดกและคู่สมรส โดยหนี้สินในส่วนของเจ้ามรดกจะตกทอดสู่ทายาททันที (เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดก)
สรุป หากเจ้ามรดกมีหนี้สิน หนี้ถือว่าเป็นมรดก โดยที่เจ้าหนี้สามารถทวงเงินกับทายาทได้เพียงเท่ากับมรดกที่ได้รับเท่านั้น หากมีหนี้มากกว่านั้น ทายาทก็ไม่ต้องจ่าย โดยเจ้าหนี้กองมรดกต้องฟ้องทายาทให้ชำระหนี้กองมรดกภายในกำหนด 1 ปีนับแต่เจ้าหนี้ได้ทราบหรือควรทราบถึงความตายของเจ้ามรดก หรือภายในกำหนด 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และต้องฟ้องทายาททุกคน จะฟ้องเพียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้
อายุความ – คดีมรดก 1 ปี จัดการมรดก 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี
คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก คือ คดีที่เกี่ยวกับกรณีพิพาทในเรื่องการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกนั้น ไม่ชอบหรือไม่ โอนให้ทายาทถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่ เป็นคดีที่ฟ้องผู้จัดการมรดก โดยมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นลงตามมาตรา 1733 วรรคสอง แต่ถ้าเป็นการฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก แต่เป็นคดีมรดก มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันได้รู้หรือควรได้รู้ความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 แต่ไม่เกินกำหนด 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง – ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 และมาตรา 1733 วรรคสอง
ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง “คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง“
ป.พ.พ. มาตรา 1754 “ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตา”
[เลขมาตรา 193/27 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535]